การเลือกลวดเชื่อมให้เหมาะกับงานเชื่อม


ปัญหาของช่างเชื่อมในการเลือกซื้อลวดเชื่อมผิดประเภท ไม่เหมาะสมหรือไม่ตรงกับความต้องการของงาน ทำให้เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา และอื่นฯ อีกมากมายที่ตามมาไม่ว่าจะส่งงานไม่ทัน งานที่ส่งใช้ได้ไม่ตรงตามสเปก

ขั้นตอนในการเลือกลวดเชื่อมให้เหมาะกับงานเชื่อม

1.      ผู้ใช้งานหรือเจ้าของงานควรทราบเกรดหรือวัสดุของชิ้นงานที่จะเชื่อมว่าเป็นเกรดอะไร เช่น เหล็ก, สแตนเลส, อลูมิเนียม, เหล็กหล่อ, ทองเหลือง, ทองแดง, ไทเทเนียม และ วัสดุเกรดพิเศษต่างๆ อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของงานเชื่อมนั้นๆ ว่าต้องการให้งานเชื่อมออกมาเป็นยังไง

·        งานเชื่อมโครงสร้างเหล็ก ที่ต้องการให้แนวเชื่อมทนต่อแรงดึงสูง

      

·        งานเชื่อมถังบรรจุสารเคมีสแตนเลส ที่ต้องการให้แนวเชื่อมทนต่อการกัดกร่อนจากกรด

 

·        งานเชื่อมโลหะอัลลอยต่ำหรือสแตนเลสสำหรับถังบอยเล่อร์ ที่ต้องการให้แนวเชื่อมทนต่อการแตกร้าวที่อุณหภูมิสูง

                     

·        งานเชื่อมวัสดุโลหะคาร์ไบด์ที่มีความแข็งเป็นพิเศษ สำหรับหัวขุดเจาะหรือสายพานลำเลียงที่ต้องการให้แนวเชื่อมทนต่อแรงกระแทกและการเสียดสี

                   

2.      หลังจากที่ทราบประเภทงานและวัสดุแล้วนั้น ช่างเชื่อมควรจะต้องพิจารณาว่า ช่างเชื่อมจะเชื่อมด้วยกระบวนการเชื่อมแบบไหน ซึ่งต้องพิจารณาจาก อุปกรณ์เครื่องเชื่อมที่มีอยู่เป็นแบบชนิดไหนหรือควรต้องลงทุนซื้อเครื่องเชื่อมแบบไหนดีให้เหมาะกับงาน และทักษะฝีมือความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเชื่อมนั้นๆ เช่น

·        วิธีการเชื่อมไฟฟ้า (SMAW)

                    

·        วิธีการเชื่อมมิก (GMAW)

                     

·        วิธีการเชื่อมทิก (GTAW)

                     

·        วิธีการเชื่อมฟลักซ์คอร์ไวร์ (FCAW)

                     

·        วิธีการเชื่อมซับเมอร์ก (SAW)

                     

·        วิธีการเชื่อมแก๊สบัดกรี (Brazing)

                     

3.      เมื่อได้วิธีการเชื่อมแล้วขั้นตอนต่อไป ที่ยังคงต้องให้ความสำคัญคือ ขนาดของลวดเชื่อมที่จะนำมาใช้งาน ซึ่งมีความสัมพันธ์ความหนาของชิ้นงานที่จะเชื่อม ซึ่งขนาดของลวดเชื่อม ก็จะแบ่งตามประเภทของกระบวนการเชื่อมตามด้านล่างนี้เลย

·        เชื่อมไฟฟ้า ลวดเชื่อมมีให้เลือกขนาดตั้งแต่ 1.6, 2.0, 2.6, 3.2, 4.0,5.0 และ 6.0 มม. แล้วแต่ประเภทของงานเชื่อมนั้นๆด้วย

·        เชื่อมมิก ลวดเชื่อมโดยทั่วไปจะมีให้เลือกขนาดตั้งแต่ 0.8, 0.9, 1.0, 1.2 และ 1.6 มม. แต่ก็ยังมีขนาดพิเศษเช่น 0.6, 1.4, 2.0 หรือ 2.4 มม. ซึ่งไม่เป็นที่นิยมและหาค่อนข้างยาก

·        เชื่อมทิก ลวดเชื่อมโดยทั่วไปจะมีให้เลือกขนาดตั้งแต่ 1.0, 1.2, 1.6, 2.0, 2.4 และ 3.2 มม. และขนาดพิเศษอื่นเช่น 0.3, 0.4, 0.5, 0.6, 0.8 มม. ซึ่งจะเหมาะสำหรับงานเชื่อมเลเซอร์ที่ต้องการความประณีตเช่นงานเชื่อมแม่พิมพ์

·        เชื่อมฟลักซ์คอร์ไวร์ ลวดเชื่อมโดยทั่วไปจะมีให้เลือกขนาดตั้งแต่ 0.8, 1.0, 1.2 และ 1.6 มม. และขนาดใหญ่พิเศษเช่น 2.0 และ 2.4 มม.

·        เชื่อมซับเมอร์ก ลวดเชื่อมที่นิยมใช้มีขนาดตั้งแต่ 1.6, 2.0, 2.4, 3.2 และ 4.0 มม.

·        เชื่อมแก๊ส ขนาดลวดเชื่อมโดยทั่วไปมีตั้งแต่ 1.5, 1.6, 2.0, 2.4, 2.5, 2.6, 3.2 และ แบบแบน

ข้อมูลด้านบนนี้เป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ ในการเลือกลวดเชื่อมให้เหมาะสมถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของการเชื่อม